‘อาเซียน’ศูนย์กลาง เส้นทางสายไหมใหม่


       จากสภาพภูมิศาสตร์ของ “อาเซียน” ถือเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางสายไหมทางทะเล หรือ วัน เบลต์ วัน โร้ด (One Belt One Road) ของจีน ทีจะส่งผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจทางการค้าในอนาคต โดยเฉพาะพื้นที่ในประเทศไทย และกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี)

       อู๋ จื้อ อู่ อัครราชทูตที่ปรึกษาสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวถึงโครงการ One Belt One Road หรือเส้นทางเชื่อมการค้าของจีน (เส้นทางสายไหม) ที่เป็นมากกว่าการพัฒนาทางด้านการค้าแต่ครอบคลุมในทุกด้าน โดยจีนได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาร่วม 20 ประเทศ กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในโครงการต่างๆ กว่า 6หมื่นตำแหน่งของคนในพื้นที่ โดยในปี 2558 พบว่านักลงทุนจีนลงทุนเพิ่มขึ้น 18% เทียบกับปี 2557 มีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติลงทุนเพิ่มขึ้น 25% มูลค่า 8,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
        ทั้งนี้ เส้นทางสายไหมใหม่ทางทะเลได้ยึดอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ด้วยมีการคมนาคมทางน้ำที่สะดวก เชื่อมโยงหลายทวีป ขณะเดียวกันจีนและอาเซียนมีความสัมพันธ์ที่ดียาวนาน 25ปี โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ในประเทศอาเซียน ส่วนอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน มีมูลค่าทางการค้าในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจีนลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 20% ติดต่อกัน 13 ปี ตั้งแต่ลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อาเซียน ปี 2545
       ขณะเดียวกัน ยังกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจีนต่างๆ เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) และยังจะได้ประโยชน์จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (เอไอไอบี) ที่จีนตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนเงินทุนสร้างโครงสร้างเชื่อมต่อในหลายประเทศ รวมถึงอาเซียน โดยการดำเนินยุทธศาสตร์ One Belt One Road ยังเป็นส่วนผลักดันไทยให้เข้าไปมีส่วนพัฒนายกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและภูมิภาคในภาพรวม โดยจีนคาดหวังว่าไทยจะสามารถสร้างคลัสเตอร์ใหม่ได้สำเร็จในเร็วนี้ ขณะที่จีนก็จะคอยให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการพัฒนาเครื่องจักรสำหรับสินค้าแปรรูป
       โดยแนะให้ไทยส่งเสริมการพัฒนาแปรรูปสินค้า ผ่านการใช้เทคโนโลยี การขยายตลาดอี-คอมเมิร์ซ ไปจนถึงการพัฒนาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยล่าสุด บริษัท โจงลี่ เทลซัน โซล่าร์ ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้เข้ามาตั้งโรงงานแห่งแรกในนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ที่ จ.ระยอง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 156 เฮกเตอร์ เมือปีที่ผ่านมา เพื่อปรับสมดุลทางธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล่อม อีกทั้งภายใน 5 ปีข้างหน้าจีนจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ทำให้การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มคุณภาพ มาตรฐานและร่วมแก้ปัญหาทัวร์ผิดกฎหมาย
       ด้าน สุ่ยหนิงหนิง ประธานฝ่ายบริหารสภาธุรกิจอาเซียนของจีน กล่าวถึงการยกระดับเขตการค้าเสรี อาเซียน จีน ที่ได้รับการลงนามไปเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ทำให้เกิดการเปิดตลาดในหลายภาคส่วนมากขึ้น โดยทำให้สินค้ากว่า 105 อย่างได้รับการยกเว้นภาษี และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนในจีนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะทำให้การค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายเติบโตขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่การค้าอาเซียนกับจีน โดยเฉลี่ยเติบโตอยู่ที่ปีละ 20% ในช่วงปี 2545-2558
       ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่อาเซียนร่วมเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) สำเร็จในปลายปี 2558 ที่ผ่านมา หลายประเทศก็ได้สนใจเข้ามากระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับอาเซียนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-รัสเซีย รวมถึงบรรดาบริษัทจีนก็สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน โดยหวังเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตของทั้งสองฝ่าย
       สำหรับการเข้ามาของหลายประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสที่ช่วยกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในบรรดาประเทศอาเซียนเอง พร้อมแนะนำให้รัฐบาลไทยส่งเสริมความร่วมมือด้านการวางแผนในอุตสาหกรรมต่างๆ และในห่วงโซ่อุปทาน ครอบคลุมตั้งแต่ อุตสาหกรรมการผลิต โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการเงิน โดยต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประเทศอื่นๆ และผลักดันเอสเอ็มอีเข้ามาสู่ความร่วมมือและได้ประโยชน์ร่วมกัน พร้อมเรียกร้องให้รัฐส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบาย และช่องทางการลงทุนระหว่างนักลงทุนไทยและจีนมากยิ่งขึ้น
       เพื่อโอกาสในการเชื่อมเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างชาติอาเซียนและจีน

โดย  ปิยนุช ผิวเหลือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น